
ภายหลังประเทศไทยเริ่มกระจายวัคซีนโควิด-19 เพื่อฉีดไปยังกลุ่มเป้าหมายแล้วเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2564 ข้อมูลจนถึงวันที่ 10 พ.ค. มีผู้รับวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคน และมีผู้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้วกว่า 5 แสนคน โดยวัคซีนส่วนใหญ่ที่ได้รับเป็นวัคซีนยี่ห้อของบริษัทซิโนแวคของจีน และมีบางส่วนเป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
กลุ่มประชากรสูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง รวม 16 ล้านคน จะเป็นกลุ่มถัดไปที่จะได้รับวัคซีนในเดือน มิ.ย. นี้ ขณะที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้าให้ประชากรผู้ใหญ่ครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศได้รับวัคซีนเข็มแรกภายใน ก.ค.
ที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นไปแล้วในกลุ่มบคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และกลุ่มเสี่ยงบางส่วน เกิดผลข้างเคียงและอาการไม่พึงประสงค์อะไรบ้าง ทั้งจากวัคซีนโคโรนาแวคของบริษัทซิโนแวคของจีน และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของอังกฤษ นี่คือการรวบรวมแต่ละกรณีและการชี้แจงจากกระทรวงสาธารณสุข
วัคซีนซิโนแวค
สำหรับวัคซีนจากจีนยี่ห้อนี้ ถือว่าเป็นวัคซีนล็อตใหญ่ที่ไทยนำเข้ามาและถูกฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ชายแดน การฉีดวัคซีนซิโนแวค ปรากฏผลข้างเคียงในกรณีหลัก ๆ ได้แก่ กลุ่มอาการอัมพฤกษ์ชั่วคราว กลุ่มอาการคล้ายสโตรกหรือโรคหลอดเลือดทางสมอง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาการแขนขาอ่อนแรง หรือชา เป็นต้น

- โรงพยาบาลระยอง
กรณีของบุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลระยอง 6 คน เกิดอาการคล้ายโรคอัมพฤกษ์หลังฉีดวัคซีนซิโนแวค ผลการสอบสวนของกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า เป็นอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก ซึ่งทั้งหมดมีอาการแค่ชั่วคราวที่หายภายใน 1-3 วัน
ถือได้ว่าเป็นการพบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์แบบเป็นกลุ่มก้อนครั้งแรก นับตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ. โดยกระทรวง สธ.แถลงเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา
บุคลากรสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่ของ รพ. ระยองทั้ง 6 คน เป็นเพศหญิงทั้งหมด อายุระหว่าง 21-54 ปี มีอาการไม่พึงประสงค์หลายอาการ ตั้งแต่ ปวดตึงต้นแขน ปวดศีรษะท้ายทอย เจ็บหน้าอก ใจสั่น อ่อนแรง ขาไม่มีแรง พูดไม่ชัด ชาครึ่งซีก ไปจนถึงอาการสมองสั่งการช้า ทั้งนี้มี 1 รายที่มีโรคประจำตัวเป็นมะเร็ง และอีก 1 ราย มีน้ำหนักเกิน ทั้งหมดเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย.
พญ. ทัศนีย์ ตันติฤทธิศักดิ์ รอง ผอ.ด้านการแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ทั้ง 6 ราย ได้รับการรักษาและวินิจฉัยตามมาตรฐาน โดยการเอ็กซเรย์สมองคอมพิวเตอร์สมอง ไม่พบอาการผิดปกติ แต่ได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดในผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีปัญหาหลอดเลือดสมอง โดยกรณีที่รักษาช้าที่สุดใช้เวลา 3 วัน
- โรงพยาบาลลำปาง
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ในบุคลากรโรงพยาบาลที่มีการฉีดวัคซีนกว่า 400 คน ในจำนวนนี้มี 40 คน ที่พบอาการไม่พึงประสงค์ โดยมีบุคลากร 1 ราย ที่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้มีการหยุดฉีดวัคซีนชั่วคราวเพื่อประเมินสถานการณ์
เอกสารรายงานอุบัติการณ์อาการไม่พึงประสงค์ขั้นรุนแรงภายหลังรับวัคซีนรายงานว่า พยาบาลวิชาชีพหญิง อายุ 46 ปี มีอาการที่ไม่พึ่งประสงค์ หลังได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค 15 นาที พบว่ามีอาการเวียนศีรษะ ปวดหัว จึงเข้ารับการปฐมพยาบาล และรักษาที่หน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล

หลังจากนั้นมีอาการมากขึ้น ได้แก่ แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ ตาลาย อาเจียน 2 ครั้ง มีอาการ หน้าชา พูดไม่ชัด แขนขาข้างซ้ายอ่อนแรงทันที ทางโรงพยาบาลลำปาง ได้ระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาประเมินอาการและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งได้ให้คำแนะนำตามวิธีการรักษาอาการหลอดเลือดทางสมอง หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็พบว่าอาการดีขึ้น
ตามรายงานระบุว่า ฉีดวัคซีนตอน 10.26 น. หลังจากนั้นเริ่มมีอาการและเข้าสู่กระบวนการรักษาจนอาการดีขึ้นในเวลาประมาณ 14.00 น. ไม่มีอาการอ่อนแรงหรือชา และพูดชัด
กรณีนี้ถูกชี้แจงโดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในวันที่ 22 เม.ย. ว่าจากการตรวจสอบไปยัง จ.ลำปาง ทราบข้อเท็จจริงว่าที่ระบุมีอาการคล้ายหลอดเลือดสมอง 40 ราย ไม่เป็นความจริง มีเพียง 1 ราย นอกนั้นเป็นอาการชาปลายมือปลายเท้า อ่อนเพลีย
- นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะกรรมการนักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ข้อมูลของนักศึกษาที่มีอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์หลังจากรับวัคซีนซิโนแวค เมื่อวันที่ 23 เม.ย. และ 5 พ.ค. จาก นศ. 88 คน พบว่ามีอาการรุนแรง 7 ราย และ มีอาการเล็กน้อย 2 ราย
ส่วนใหญ่เป็นอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ง่วงซึม หนักศีรษะ ปวดลำตัว และชาตามร่างกาย ในจำนวนที่อาการรุนแรง พบว่าอาการติดต่อกัน 1-3 วัน แต่มี 2 ราย ที่ต้องไปพบแพทย์เรื่องอาการชาในวันที่ 5 หลังฉีดวัคซีน ขณะที่อีกรายพบว่าสามวันหลังฉีด มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า ตอนเย็นง่วงซึม อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตาทั้งสองข้างลืมตาไม่ขึ้น จึงไปพบแพทย์ ระหว่างการเดินทาง มีอาการอ่อนเพลียมากขึ้น ปากกระตุก เวียนศีรษะ
ภายหลังมีการเผยแพร่ข้อมูล นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงว่า จะเข้าไปตรวจสอบประวัติและความต้องการเพิ่มเติมของนักศึกษา 7 คน และพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มสองว่าจะให้เป็นชนิดเดิม หรือหากคิดว่าเป็นผลข้างเคียงรุนแรงก็อาจจะมีการเปลี่ยนชนิดวัคซีนในเข็มที่สองให้ โดยอาจจะทำซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ สมองเพิ่มเติม
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า
เมื่อต้นเดือน เม.ย. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ อายุ 71 ปี มรณภาพภายในกุฏิเมื่อวันที่ 1 เม.ย. หลังได้รับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.

พระครูสิริปัญญาเมธีเป็นหนึ่งในพระสงฆ์หลายรูปที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่วัดไตรมิตร เขตสัมพันธวงศ์เมื่อวันที่ 31 มี.ค. พระสงฆ์รูปอื่น ๆ ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนในวันเดียวกันซึ่งมีทั้งหมด 412 รูป พบว่ามีอาการแพ้วัคซีน 2 รูป (รับวัคซีนซิโนแวค 1 รูป และแอสตร้าเซนเนก้า 1 รูป) โดยมีอาการผื่นขึ้นในช่วง 30 นาทีของการสังเกตอาการ นอกนั้นพบเพียงอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้
มีข้อสงสัยว่า เหตุใดผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ จึงมรณภาพหลังการฉีดวัคซีน จากการชี้แจงของ นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผอ.โรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. ระบุว่าผลการชันสูตรศพจาก รพ.ตำรวจอย่างไม่เป็นทางการ ไม่พบลิ่มเลือดที่อาจจะทำให้มรณภาพ แต่พบอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ

กรณีที่ไม่ระบุยี่ห้อวัคซีน
การสอบสวนของคณะกรรมการทางแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยืนยันว่าผู้ป่วยโรคเส้นเลือดโป่งพองในท้องที่เสียชีวิตภายหลังรับวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่ผ่านมา ไม่ได้มีสาเหตุจากการรับวัคซีน
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เปิดเผยผลการสอบสวนเบื้องต้นเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ได้รับวัคซีนรายนี้ว่าเป็นผู้ป่วยชาย มีโรคประจำตัวคือโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องท้อง ชายคนดังกล่าวได้เข้ารับการผ่าตัดเมื่อปลายเดือน ม.ค.
สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายนี้พบว่าหลังจากรับวัคซีนในวันที่ 7-8 มีอาการจุกที่ลิ้นปี่ ทั้งนี้ยืนยันว่าการเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากการรับวัคซีนโควิด-19 โดยทางคณะกรรมการแพทย์สรุปว่าผู้ป่วยน่าจะเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดโป่งพองและมีอาการแตกหรือรั่ว ซึ่งเป็นโรคเก่า
“สรุปว่าโรคนี้ (หลอดเลือดโป่งพองแตก) คงบังเอิญมาเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนไม่ได้เป็นสาเหตุของการทำให้ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิต”
อาการอื่น ๆ
ตามการเปิดเผยของ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ. ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิดสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-8 มี.ค.2564 มีผู้ฉีดวัคซีนรวม 29,900 ราย ในจำนวนนี้มีการรายงานผ่านระบบไลน์ “หมอพร้อม” ว่ามีอาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง จำนวน 2,380 ราย คิดเป็น 7.96% ของผู้รับวัคซีนทั้งหมด
นพ.จักรรัฐย้ำว่า อาการข้างเคียงจากการฉีดที่เกิดขึ้นได้ปกติ บางคนอาจมีอาเจียน ปวดเมื่อยเนื้อตัว อักเสบบริเวณที่ฉีด ไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น
“แต่กรณีที่ต้องเฝ้าระวังอย่างมาก คือ อาการข้างเคียงรุนแรง คือ ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ปากเบี้ยวกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชัก หมดสติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาท กรณีนี้ต้องมีการรายงานเข้ามาในระบบเฝ้าระวัง ซึ่งอาการข้างเคียงรุนแรงจำเป็นต้องสอบสวนโรค… ” นพ.จักรรัฐกล่าว
อย่างไรคือ “อาการไม่พึงประสงค์ – ผลข้างเคียง – อาการแพ้” หลังฉีดวัคซีน
นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ อธิบายถึงความแตกต่างของอาการต่าง ๆ หลังการรับวัคซีน
- อาการไม่พึงประสงค์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน แต่จะเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย
- ผลข้างเคียงถือว่าเป็นผลจากตัววัคซีน มีทั้งชนิดรุนแรง เช่น อาการทางสมองอย่างการชัก ส่วนชนิดไม่รุนแรง ได้แก่ การปวดบริเวณที่ฉีด เป็นต้น นพ. ทวี ยกตัวอย่าง วัคซีนซิโนแวค ว่าผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง เกิดขึ้นประมาณ 20-30% ในกลุ่มผู้รับวัคซีนมีเพียง 0.7% เป็นผลรุนแรง ดังนั้น จึงชี้ได้ว่าวัคซีนที่ไทยนำเข้ามามีความปลอดภัย
- อาการแพ้ ชนิดไม่รุนแรง เช่น ผื่นคันตามตัว
- อาการแพ้รุนแรง นพ.ทวี บอกว่าน่ากังวลกว่า เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อย ปวดท้อง อาเจียน ผื่นขึ้นตามตัว อย่างไรก็ตามเจอได้น้อย เช่น วัคซีนของไฟเซอร์ พบอาการแพ้รุนแรง 11 ต่อล้านโดส
ทั้งนี้การแพ้รุนแรง 90-95% เกิดขั้นภายใน 15 นาทีหลังฉีด จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดต้องนั่งรอ ประมาณ 30 นาที หลังการเข้ารับวัคซีน
ที่มา BBC NEW ไทย
สอบถามแฟรนไชส์ WashCoin ได้ที่
แชร์โพสนี้
Add Comment